พิมพ์
รายละเอียด: | ฮิต: 9296

ให้เรตสมาชิก: 5 / 5

ดาวใช้งานดาวใช้งานดาวใช้งานดาวใช้งานดาวใช้งาน
 

ที่มาแห่งสามัญญผลสูตร 
5. พระเจ้าอชาตศัตรู ทรงสงสัยเป้าหมายของนักบวช

600216_10.jpg - 111.35 kB

    พระเจ้าอชาตศัตรูทรงประสบทุกข์แสนสาหัส ภายหลังจากพระราชบิดาสิ้นพระชนม์ด้วยการกระทำของพระองค์เอง ประกอบกับทรงได้สดับคำติเตียนของชาวแว่นแคว้นในกรรมชั่วของพระเทวทัต เมื่อทรงครุ่นคิดไตร่ตรองดูด้วยปัญญาแล้ว พระองค์จึงทรงตระหนักว่า ความทุกข์และความเดือดร้อนที่พระองค์กำลังเผชิญอยู่นี้ ล้วนมีสาเหตุมาจากความหลงผิด หลงเชื่อและยกย่องบูชานักบวชอย่างเทวทัตโดยแท้ ขณะเดียวกันก็ทรงพิศวงนักหนาว่า เหตุใดนักบวชเทวทัตที่พระองค์เห็นว่าเป็นผู้ทรงศีล มิหนำซ้ำยังเป็นพระญาติของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าอีกด้วย

     

     จึงได้ชักนำพระองค์ให้ก่อกรรมทำบาปอย่างอุกฤษฏ์ถึงปานนั้น แม้จะทรงทราบดีว่า ในกลุ่มคนหมู่มากย่อมมีทั้งคนดีและเลว นักบวชก็เช่นกัน ย่อมมีทั้งนักบวชที่ทรงศีลและ นักบวชทุศีล แต่จะรู้ได้อย่างไรว่านักบวชรูปใดที่ทรงศีลหรือทุศีล เพราะนักบวชมีอยู่มากมาย อีกทั้งศาสนาก็มีอยู่หลายศาสนา แต่ละศาสนายังแตกออกเป็นนิกายต่างๆ อีก แม้นักบวชในนิกายเดียวกัน ก็ยังมีความเชื่อ แนวคิด แนวการสั่งสอน ตลอดจนแนวปฏิบัติแตกต่างกันออกไปอีก สิ่งเหล่านี้ย่อมทำให้ประชาชนสับสน ไม่รู้ว่าจะหาเกณฑ์มาตราฐานของความเป็นนักบวชที่ทรงศีลทรงธรรมได้อย่างไร ความสงสัยดังกล่าวทำให้พระเจ้าอชาตศัตรูทรงพยายามอย่างยิ่งที่จะหาคำตอบในเรื่องนี้ให้ได้ ด้วยเกรงว่า อาณาประชาราษฎร์ในแว่นแคว้นของพระองค์ จะตกเป็นเหยื่อของนักบวชทุศีล จนทำให้ไร้สติปัญญาถึงกับก่ออนันตริยกรรม 1 ดังเช่นพระองค์อีก นอกจากนี้ยังทรงใคร่จะรู้อีกด้วยว่า นักบวชทั้งหลายออกบวชเพื่อประสงค์สิ่งใด และใช้ชีวิตนักบวชกันอย่างไร ดังนั้นพระองค์จึงพยายามตระเวนไปหาความจริงจากเจ้าลัทธิต่างๆด้วยพระองค์เอง พระเจ้าอชาตศัตรูทรงตระเวนไปพบบรรดาครูเจ้าลัทธิหลายสำนัก แต่ก็ไม่ได้รับคำตอบอันเป็นที่พอพระทัย จนกระทั่งในที่สุด เมื่อได้เข้าเฝ้าพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พระองค์จึงทรงได้รับคำตอบอันกระจ่างแจ้ง ทรงรู้สึกซาบซึ้งในพระมหากรุณาธิคุณของพระพุทธองค์เป็นล้นพ้น จึงได้ทรงขอถึงพระผู้มีพระภาคเจ้า พระธรรม พระสงฆ์ เป็นสรณะตลอดพระชนม์ชีพ ทั้งหมดนี้คือที่มาของสามัญญผลสูตร

 

    1 อนันตริยกรรม คือ กรรมที่เป็นบาปหนักที่สุด เพราะตัดทางสวรรค์ ตัดทางนิพพาน ผู้ก่อกรรมนี้ขณะที่ยังมีชีวิตอยู่ก็จะประสบแต่ความเดือดร้อนใจไม่มีว่างเว้น เมื่อตายไปแล้วก็ยังต้องเสวยวิบากรรมในนรกต่อไปอีก อนันตริยกรรมมี 5 อย่างคือ 

      1. มาตุฆาต คือ ฆ่ามารดาตนเอง 

      2. ปิตุฆาต คือ ฆ่าบิดาตนเอง 

      3. อรหันตฆาต คือ ฆ่าพระอรหันต์ 

   4. โลหิตุปบาท คือ ทำร้ยพระพุทธเจ้าจนทำให้พระโลหิตห้อ ดังที่พระเทวทัตปีนขึ้นไปบนยอดเขาคิชฌกูฏแล้วกลิ้งหินใหญ่ลงมา ด้วยหมายใจจะปลงพระชนม์พระพุทธองค์ ขณะที่เสด็จจงกรมอยู่เบื้องล่าง แต่ก็ไม่สำเร็จ เว้นแต่ว่ามีเพียงสะเก็ดหินชิ้นหนึ่ง กระเด็นมากระทบพระบาทของพระพุทธองค์ เกิดเป็นรอยห้อพระโลหิตขึ้นที่พระบาทเท่านั้น 

      5. สังฆเภท คือ การทำสงฆ์ให้แตกกัน ได้แก่การยุแหย่หรือชักนำเหล่าพระภิกษุในพระพุทธศาสนาให้แตกความสามัคคีกันโดยแบ่งกันเป็นพวกหรือเป็นฝ่าย จนถึงมีการกำหนดว่า สงฆ์ที่ต่างฝ่ายกันจะไม่ทำ สังฆกรรม1ร่วมกัน ไม่ทำอุโบสถ2 ไม่ทำปวารณา3 ร่วมกัน ตัวอย่างสังฆเภทในสมัยพุทธกาลคือ การกระทำของพระเทวทัต หลังจากที่ประสบความล้มเหลวเกี่ยวกับการเสนอข้อปฎิบัติ 5 ประการ4  ต่อพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เพื่อแสดงว่าตนเคร่งครัดกว่า แต่ถูกพระพุทธองค์ปฏิเสธ ครั้นต่อมาเมื่อถึงวันอุโบสถ พระเทวทัตก็พยายามชักชวนนักบวชใหม่มาเป็นพวกแล้วพาภิกษุเหล่านั้นแยกไปทำอุโบสถ ณ ตำบลคยาสีสะ

 

 


1 สังฆกรรม คือ กิจที่กระทำโดยที่ประชุมสงฆ์ตั้งแต่ 5 รูปขึ้นไป ภายในเขตสีมา (เขตโบสถ์) เช่น การอุปสมบทเป็นต้น 

2 การทำอุโบสถ คือ การลงฟังพระปาฏิโมกข์ของพระสงฆ์ทุกๆกึ่งเดือน ในอุโบสถ

3 การทำปวารณา คือ การเปิดโอกาสให้ว่ากล่าวตักเตือนกัน โดยในวันสุดท้ายแห่งการจำพรรษา คือในวันขึ้น 15 ค่ำเดือน 11 ซึ่งเรียกว่า “วันมหาปวารณา”นั้น ภิกษุทุกรูปที่มาประชุมกันจะกล่าวปวารณา เปอดโอกาสให้ว่ากล่าวตักเตือนซึ่งกันและกัน

4 ข้อปฏิบัติ 5 ประการ ที่พระเทวทัตทูลเสนอต่อพระสัมมาสัมพุทธเจ้าคือ

1. ให้ภิกษุอยู่ป่าตลอดชีวิต เข้าสู่บ้านมีโทษ
2. ให้ถือบิณฑบาตตลอดชีวิต รับนิมนต์มีโทษ
3. ให้ถือผ้าบังสกุลตลอดชีวิต รับจีวรที่ชาวบ้านถวายมีโทษ
4. ให้อยู่โคนต้นไม้ตลอดชีวิต เข้าสู่ที่มุงบังมีโทษ
5. ห้ามฉันเนื้อสัตว์ตลอดชีวิต ถ้าฉันมีโทษ