พิมพ์
รายละเอียด: | ฮิต: 7334
ดาวไม่ได้ใช้งานดาวไม่ได้ใช้งานดาวไม่ได้ใช้งานดาวไม่ได้ใช้งานดาวไม่ได้ใช้งาน
 

      ทันทีที่มีการเปิดตัวโครงการ  “บวชพระ ๑๐๐,๐๐๐ รูป ทุกหมู่บ้านทั่วไทย” ระหว่างวันที่ ๑๙ มกราคม - ๘ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๕๓ ก็เกิดกระแสการตอบรับจากชายไทยผู้สนใจอย่างท่วมท้น โดยดูจากคำถามที่ประเดประดังเข้ามาที่ศูนย์รับข้อมูลของโครงการเป็นจำนวนมาก จนทีมงานฯเพิกเฉยต่อไปไม่ได้ จึงทำการคัดคำถาม และขออนุญาตทำหน้าที่เป็นตัวแทนในการเข้ากราบสัมภาษณ์ พระมหาสมชาย ฐานวุฑฺโฒ M.D., Ph.D. ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดพระธรรมกาย  ซึ่งท่านรับหน้าที่เป็นประธานคณะทำงานอุปสมบทหมู่ ๑๐๐,๐๐๐ รูป ครั้งนี้

 

พระมหาสมชาย ฐานวุฑฺโฒ M.D., Ph.D.  ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดพระธรรมกาย

ประธานคณะทำงานอุปสมบทหมู่ ๑๐๐,๐๐๐ รูป ทุกหมู่บ้านทั่วไทย

 

ใคร..ทำโครงการนี้ และทำไปเพื่ออะไร ?

     “โครงการนี้ เป็นหนึ่งในโครงการฟื้นฟูศีลธรรมโลกที่เกิดขึ้นโดยดำริของพระเทพญาณมหามุนี (หลวงพ่อธัมมชโย)เจ้าอาวาสวัดพระธรรมกาย เพื่อรวมพลังพุทธบริษัท ๔ ทั้งแผ่นดิน ช่วยกันฟื้นฟูประเพณีการบวช และสร้างศาสนทายาทเพื่อสืบอายุพระศาสนา โดยวัดพระธรรมกายทำหน้าที่ประสานงานอำนวยความสะดวกให้คณะสงฆ์ทั่วประเทศที่เข้าร่วมโครงการ

      สืบเนื่องมาจากการที่พระเทพญาณมหามุนี ได้รับทราบข้อมูลจากพระเถระผู้ใหญ่ว่า ปัจจุบันนี้วัดต่าง ๆ มีผู้มาบวชจำพรรษาน้อยลงมาก ขนาดพระอารามหลวงในเขตกรุงเทพฯ ซึ่งแต่ก่อนเคยมีผู้บวชจำพรรษาปีละ ๔๐-๕๐ รูป ปีนี้มีผู้เข้ามาบวชจำพรรษาเพียงแค่ ๑-๒ รูป บางวัดก็ไม่มีเลยแม้แต่รูปเดียว ทั้ง ๆ ที่ประชากรที่อยู่รายรอบวัดในเขตกรุงเทพฯ มีมากถึง ๑๐ ล้านกว่าคน  ตรงจุดนี้แสดงให้เห็นว่า ธรรมเนียมที่ชายไทยจะต้องบวชให้ได้อย่างน้อย ๑ พรรษา เมื่ออายุครบกำหนดบวชเริ่มเลือนรางหายไป มิหนำซ้ำยังพบว่า จากสถิติที่สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติสำรวจ ณ วันที่ ๑ มิถุนายน ๒๕๕๒ พบว่าในประเทศไทยมีวัดร้างถึง ๕,๙๓๗ วัด อีกทั้งยังมีแนวโน้มว่าจะเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ จนน่าเป็นห่วงสถานการณ์ของพระพุทธศาสนา เพราะปัญหาสังคมกำลังทวีความรุนแรงเพิ่มขึ้น ดังจะเห็นได้ชัดจากปัญหาศีลธรรมที่เสื่อมลง อย่างเมื่อเร็ว ๆนี้ ข่าวหน้า ๑ ของหนังสือพิมพ์ลงเรื่องโจรบุกวัดตัดเศียรพระพุทธรูปไปขายเป็นจำนวนมาก ซึ่งเป็นการลงมือกระทำอย่างอุกอาจไม่กลัวบาปกรรม หรือแม้กระทั่งปัญหาการรุกที่วัดในเขตภาคใต้ แล้วขุดดินในเขตสงฆ์ไปขาย หรือปัญหาอบายมุข ทั้ง ๆที่ประเทศเราเป็นเมืองพุทธแท้ ๆ แต่กลับมีสถิติการดื่มเหล้ามากเป็นอันดับต้น ๆ ของโลก ตลอดจนปัญหาที่ใกล้ตัวเข้ามาอีกก็คือปัญหาครอบครัวแตกแยก ลูกไม่เชื่อฟังพ่อแม่ ปัญหาโจรผู้ร้าย ปัญหาความไม่สงบในบ้านเมือง อาชญากรรม ยาเสพติดต่าง ๆนานา แต่ในขณะที่ปัญหาสังคมกำลังทวีความรุนแรงมากขึ้น สังคมกำลังโหยหาธรรมะอย่างยิ่ง แต่จำนวนพระภิกษุผู้จะทำหน้าที่สอนศีลธรรมแก่ประชาชนกลับลดลงไปทุกที

       เมื่อปัญหาศีลธรรมภายในประเทศเข้าขั้นวิกฤตถึงขนาดนี้แล้ว เราในฐานะพุทธศาสนิกชนคนหนึ่ง จะมัวมานั่งบ่นรำพึงรำพันไปวัน ๆ หนึ่ง ก็คงจะไม่เกิดอะไรดีขึ้นถึงเวลาแล้วที่เราควรจะหันมาช่วยกันฟื้นฟูศีลธรรมภายในประเทศให้เจริญรุ่งเรืองและขยายไปสู่สังคมโลกในที่สุด ซึ่งโครงการบวชพระ ๑๐๐,๐๐๐ รูป ก็คือ โครงการหนึ่งที่จะเข้ามาแก้ไขปัญหาตรงนี้ได้อย่างตรงประเด็นที่สุด”

 

ทำไมต้องบวชตั้ง ๑๐๐,๐๐๐ รูป มากเกินไปหรือเปล่า

     “เราทราบไหมว่าหมู่บ้านในประเทศไทยมีเท่าไร..? ประเทศไทยมีหมู่บ้าน ๘๐,๐๐๐ กว่าหมู่บ้าน หากต้องการให้กระแสศีลธรรมถูกฟื้นฟูขึ้นบนผืนแผ่นดินไทย เบื้องต้นเราขอตัวแทนหมู่บ้านละ ๑ คน แต่บางหมู่บ้านอาจจะส่งมา ๒ คน รวมแล้วก็จะเท่ากับ ๑๐๐,๐๐๐ คน จึงเป็นที่มาของชื่อโครงการบวชพระ ๑๐๐,๐๐๐ รูปทุกหมู่บ้านทั่วไทย”

 

บวชกันมากขนาดนี้ มีการวางแผนตั้งรับและจัดระบบกันอย่างไร

     “การอบรมในครั้งนี้ นอกจากจะจัดอบรมที่วัดพระธรรมกายแล้ว ยังจัดอบรมในวัดต่าง ๆ ที่กระจายอยู่ทั่วทุกภูมิภาคของประเทศ เพื่อเพิ่มความสะดวกตามภูมิลำเนาของผู้อยู่ใกล้ เนื่องจากโครงการนี้พระผู้ใหญ่จากวัดต่าง ๆ ทั่วสังฆมณฑลท่านยินดีเปิดวัดของท่านเป็นสถานที่จัดอบรมมากถึง ๓๓๓ วัดทั่วประเทศ เพราะท่านอุทิศชีวิตมาบวชในพระพุทธศาสนาหยัดสู้ ยอมเหนื่อยถึงขนาดนี้ ก็หวังจะเห็นความเจริญของพระพุทธศาสนา อยากจะฟื้นฟูศีลธรรมโลก ดำรงพระพุทธศาสนาให้อยู่คู่ผืนแผ่นดินไทยสืบไป ท่านจึงได้ส่งตัวแทนพระพี่เลี้ยงมาเข้าร่วมประชุมสัมมนาวางแผนระบบการตั้งรับตั้งแต่วันที่ ๑๗-๒๖ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๕๒   

     อีกทั้งทางโครงการยังเปิดรับสมัครธรรมทายาทผู้เคยผ่านการอุปสมบทมาแล้วจำนวน ๑,๕๐๐ คน กลับมาบวชใหม่ เพื่อฝึกอบรมเตรียมทำหน้าที่เป็นผู้ช่วยพระพี่เลี้ยงในโครงการ ตั้งแต่วันที่ ๑๙ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๕๒ ถึง ๑๔ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๕๓ อีกด้วยซึ่งการอบรมครั้งนี้จะเป็นมาตรฐานและหลักสูตรเดียวกันทั่วประเทศ เพราะจะมีการถ่ายทอดสดการอบรมเทศน์สอนจากพระเถระผู้ทรงภูมิรู้ภูมิธรรมจากทั้งแผ่นดินโดยผ่านทีวีดาวเทียม กระจายไปอย่างทั่วถึงพร้อมกันทั่วประเทศ”

 

อยากบวชเอง..เดี่ยว ๆ แบบเงียบ ๆ สงบ ๆ มากกว่ามาบวชเป็นแสน เพราะไม่อยากเจอความวุ่นวาย

     “การบวชเป็นหมู่คณะจะดีกว่าบวชเดี่ยวในกรณีที่ว่า พลังหมู่จะเสริมพลังเดี่ยวเหมือนเด็กที่ไม่ยอมไปโรงเรียน แล้วไปบอกพ่อแม่ว่า ผมไม่อยากไปโรงเรียนเพราะคนเยอะวุ่นวาย ขออ่านหนังสือสงบ ๆ นั่งอ่านคนเดียวเงียบ ๆ อยู่ที่บ้านดีกว่า สมมุติว่าพ่อแม่อนุญาต แล้วเราแอบย่องไปดูว่าเด็กคนนี้จะยอมนั่งอ่านหนังสือตลอดวัน วันละ ๗ชั่วโมง เหมือนอยู่ที่โรงเรียนหรือเปล่า ซึ่งเราจะพบว่าเด็กน้อยคนมากที่จะดูหนังสือเองได้วันละ ๗ ชั่วโมง ส่วนใหญ่ดูไปสักพักก็จะแอบนอน เล่นอินเทอร์เน็ต แอบแชต เล่นเกม  หรือไม่ก็แอบหนีไปเที่ยว แต่เด็กที่ไปเรียนหนังสือที่โรงเรียนตามปกติ แน่นอน..! เขาจะได้เรียนเต็มเวลา คือ ๗ ชั่วโมง เพราะโรงเรียนมีกฎระเบียบ มีอาจารย์คอยดูแลมีเพื่อน มีพลังหมู่ช่วยเสริมพลังเดี่ยว การมาบวชเรียนธรรมะก็เหมือนกัน พลังหมู่จะทำให้เราสามารถลุกมาสวดมนต์ตี ๔ นั่งสมาธิตรงเวลา ได้ศึกษาธรรมะที่มีหลักสูตรที่ถูกวางไว้เป็นอย่างดีแล้ว ซึ่งการบวชครั้งนี้นับว่าโชคดีมาก เพราะผู้บวชจะได้เรียนรู้ธรรมะจากพระเถระผู้ทรงภูมิรู้ภูมิธรรมจากทั่วประเทศ ซึ่งการไปบวชเดี่ยวคนเดียว จะไม่ได้รับโอกาสอย่างนี้ ไหน ๆ เราก็สละเวลามาบวชแล้ว การบวชครั้งหนึ่งในชีวิตก็น่าจะได้อะไรที่ดีที่สุดกลับไป

     แล้วอีกอย่างการบวช ๑๐๐,๐๐๐ รูป ครั้งนี้ ไม่ได้วุ่นวายอย่างที่คิด เพราะมีการจัดสรรเหมือนระบบการเรียนการสอนของโรงเรียนทั่วประเทศ ที่แม้นักเรียนกว่า ๑๓ ล้านคน ต้องไปโรงเรียนพร้อมกันหมด ก็ทำได้อย่างเรียบร้อย เพราะแบ่งกันเรียนตามโรงเรียนต่าง ๆ ทั่วประเทศ ในแต่ละโรงเรียนก็แบ่งเป็นห้องเรียนต่าง ๆ การบวชครั้งนี้ก็เหมือนกัน มีการกระจายกันบวชตามภูมิภาคต่าง ๆ ทั่วประเทศถึง ๓๓๓ วัด บางวัดก็อบรมกัน ๑๐๐ รูป บางวัดก็ ๒๐๐ รูป บางวัดก็ ๕๐๐ รูป ตามสภาพความพร้อมผู้บวชสามารถเลือกได้ตามอัธยาศัย แต่ถ้าใครชอบบวชเป็นหมู่คณะใหญ่มีคนมาก ๆ รู้สึกได้ประสบการณ์เยอะดี ก็มาอบรมที่วัดพระธรรมกาย เพราะสามารถรองรับการอบรมได้ถึง ๑๐,๐๐๐ รูป”

 

เคยบวชแล้ว ทำไมต้องบวชอีก

     “คำถามนี้ ก็คล้าย ๆ กับคำถามที่ว่าเมื่อวานกินข้าวไปแล้ว..ทำไมวันนี้ต้องกินอีก กินไปแล้วก็น่าจะพอแล้ว ตรงนี้เราจะเห็นว่าร่างกายยังต้องการอาหารไปหล่อเลี้ยงให้ดำรงชีวิตอยู่ได้ จิตใจก็เช่นกัน ย่อมต้องการบุญกุศลไปหล่อเลี้ยงให้ใจผ่องใสมีพลังอยู่เสมอเช่นกัน ในเมื่อภาวะปัจจุบันทำให้จิตใจต้องเจอกับปัญหาต่าง ๆ นานาที่เพิ่มมากขึ้น ทำให้สภาพจิตใจเสียความปกติไปซึ่งเราจะเห็นได้จากอาการเครียด หงุดหงิดเศร้า วิตกกังวล หมดกำลังใจ จากนั้นก็ไปแสวงหาทางออกผิด ๆ โดยที่ไม่รู้ว่าแท้จริงแล้ว จิตใจต้องการธรรมโอสถเพื่อบำบัดต้องการความสงบ คิดทบทวนตนเอง ให้ฝึกฝนปฏิรูปตนเอง และเรียนรู้หลักธรรมในการดำเนินชีวิตเพิ่มมากขึ้น อีกทั้งบุญกุศลจากการบวช นอกจากจะทำให้ชีวิตเจริญก้าวหน้าขึ้น ยังส่งผลช่วยให้ชีวิตประณีตมีความสุขขึ้น”

 

 

 

หนังสือ : ทำไม..ต้องบวช ๑๐๐,๐๐๐ รูป 

จัดทำโดย : กองสื่อธรรมะ วัดพระธรรมกาย